เป็นเรื่องราวของ เพียร เวชบุล หญิงไทยที่มุ่งทำตามความฝันจนสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยปารีส ฝรั่งเศส นับเป็นแพทย์สตรีคนแรกที่จบการศึกษาด้านกามโรคและเดินทางกลับสยามเมื่อต้นปี พ.ศ.2480 แม้บทบาทแพทย์หญิงในสังคมไทยในยุคเริ่มต้นไม่ง่ายนัก แต่หมอเพียรก็ยังบุกเบิกการรักษาโรคกามโรคและโรคซิฟิลิซให้แก่ประชาชนและแอบเข้าไปรักษาเหล่าโสเภณีในซ่องที่เรียกว่า “บ้านสีฟ้า” แม้จะเจอกับความยากลำบากและความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในสังคม จนได้ชื่อว่า “แม่พระของเหล่าโสเภณี” นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง “มาตาภาวสถาน” เพื่อช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และเด็กกำพร้า
หลังผ่านพ้นสงครามเอเชียบูรพา หมอเพียรตัดสินใจกู้เงินธนาคารออมสินจำนวนกว่า 3 ล้านบาทเพื่อขยับขยายมาตาภาวนาสถานเป็น “พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ” พร้อมทั้งก่อตั้ง “บ้านเกร็ดตระการ” ขึ้นเพื่อเป็นสถานฝึกทักษะแก่หญิงโสเภณีไม่ให้กลับไปทำอาชีพเดิม
ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีพระราชทานนามสกุล “เวชบุล” และรับ “พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ” ไว้ในอุปถัมภ์ และพระราชทานคำนำหน้าหมอเพียรว่า “แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล” หมอเพียรยังคงเดินหน้ารักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือโสเภณีและผู้ป่วยกามโรคนับหมื่นชีวิต รวมถึงลูก ๆ เวชบุล กว่า 4,000 ชีวิต ให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพต่อไป นิตยสารรีเดอร์ไดเจสได้บันทึกเรื่องราวแพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล ในฐานะ “ผู้หญิงมหัศจรรย์”